top of page
  • รูปภาพนักเขียนsciencesp

สืบทอดเจตนารมณ์แห่งการอนุรักษ์ธรรมชาติ-๓๐ ปีกับการจากไปของสืบ นาคะเสถียร



สืบทอดเจตนารมณ์แห่งการอนุรักษ์ธรรมชาติ-๓๐ ปีกับการจากไปของสืบ  นาคะเสถียร

โดย บุญฤทธิ  โชติถาวรรัตน์


“ผมมีเจตนาที่จะฆ่าตัวเอง โดยไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องในกรณีนี้ทั้งสิ้น”

​ข้อความดังกล่าวเป็นสิ่งที่สืบ นาคะเสถียร เขียนทิ้งไว้เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๓๓ ก่อนกระทำอัตวินิบาตกรรม เพื่อเรียกร้องให้สังคมและราชการไทยหันมาสนใจปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจัง หลายคนอาจลืมชื่อของนักอนุรักษ์ “สืบ  นาคะเสถียร” หรือแม้กระทั่งไม่รู้จักเลย ของฝากจากวิทย์ฉบับนี้จึงหยิบยกเรื่องราวของนักอนุรักษ์คนนี้มาให้รับรู้กัน

ประวัติของสืบ  นาคะเสถียร

​สืบ นาคะเสถียร เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๔๙๒ ที่ตำบลท่างา อำเภอเมืองจังหวัดปราจีนบุรี เป็นลูกของนายสลับ นาคะเสถียร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี และนางบุญเยี่ยม นาคะเสถียร มีพี่น้องทั้งหมดสามคน สืบ นาคะเสถียร อยากเรียนสถาปัตยกรรมเพราะชอบด้านศิลปะ แต่มาสอบติดคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รุ่นที่ ๓๕ เมื่อสำเร็จการศึกษา สืบ นาคะเสถียร ได้เข้าทำงานที่ส่วนสาธารณะการเคหะแห่งชาติ และไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาวนวัฒน์วิทยา คณะวนศาสตร์

เจตนารมณ์แห่งการอนุรักษ์

ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ สืบ นาคะเสถียร สอบเข้ากรมป่าไม้ได้ แต่เลือกที่จะมาทำงานที่กองอนุรักษ์สัตว์ป่าโดยไปประจำที่เขตรักษาพันธุ์ สัตว์ป่า เขาเขียว-เขาชมพู่จังหวัดชลบุรี  ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๒๒ สืบ นาคะเสถียร ได้รับทุนจาก British Council ไปเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษในสาขา

อนุรักษ์วิทยา หลังจากสำเร็จการศึกษาในอีกสองปีต่อมา สืบ นาคะเสถียร ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ และเริ่มงานวิจัยชิ้นแรก คือการศึกษาการทำรังวางไข่ของนกบางชนิด ที่อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี รวมทั้งได้เดินทางไปทำวิจัยเรื่องกวางผา กับดร.แซนโดร โรวาลี ที่ดอยม่อนจองในบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ และเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ป่า จนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเสียชีวิต สร้างความสะเทือนใจให้แก่ สืบ นาคะเสถียร เป็นอย่างมาก อีกทั้งในปีต่อมา สืบ นาคะเสถียร รับเป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าในเขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีสัตว์นับพันตัวได้รับความช่วยเหลือ แต่ สืบ นาคะเสถียร รู้ดีว่ามีสัตว์อีกนับจำนวนมหาศาลที่ตายจากการสร้างเขื่อน และในระหว่างนั้น สืบ นาคะเสถียร ได้ค้นพบรังนกกระสาคอขาวปากแดงครั้งแรกในประเทศไทย

ปัจฉิมบทของสืบ นาคะเสถียร

​สามปีสุดท้ายในการทำงานของสืบ นาคะเสถียร เขาได้เปลี่ยนบทบาทจากนักวิชาการไปสู่นักอนุรักษ์ โดยเข้าร่วมต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน จังหวัดกาญจนบุรีในปี พ.ศ.๒๕๓๐ โดย สืบ นาคะเสถียร ชี้ให้เห็นถึงบทเรียนจากการที่มีสัตว์จำนวนมาก ล้มตายหลังจากการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน เขา เริ่มต้นอภิปรายทุกครั้งว่า “ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า” ต่อมาใน ปี พ.ศ. ๒๕๓๑ สืบ นาคะเสถียร และเพื่อนอนุรักษ์ออกโรงคัดค้านการที่บริษัทไม้อัดไทยจะขอสัมปทานทำไม้ ที่ป่าห้วยขาแข้ง เขาได้อภิปรายว่า “คนที่อยากอนุญาตให้ทำไม้ก็เป็นกรมป่าไม้ คนที่จะรักษาก็เป็นกรมป่าไม้เหมือนกัน”

ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ สืบ นาคะเสถียร ได้รับทุน เรียนต่อปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษ แต่เขาตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขาพบกับปัญหาต่างๆ มากมายในห้วยขาแข้ง เช่นปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ของบุคคลที่มีอิทธิพล เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าถูกยิงเสียชีวิต ปัญหาความยากจนของชาวบ้านรอบป่า และที่สำคัญคือปัญหาเหล่านี้ไม่เคยได้รับความสนใจจากผู้ใหญ่เลย  ทำให้เขาทุ่มเทเขียนรายงานนำเสนอยูเนสโก เพื่อพิจารณาให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลก อันเป็นสิ่งค้ำประกันให้พื้นที่แห่งนี้ได้รับการคุ้มครองเต็มที่

ก่อนรุ่งสางของวันที่ 1 กันยายน 2533 ที่บ้านพักของ สืบ นาคะเสถียร ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เสียงปืนนัดหนึ่งดังขึ้นท่ามกลางป่าใหญ่ เสียงนั้นยังดังก้องมาถึงทุกวันนี้ มรณกรรมของเขาส่งต่อเจตนารมณ์ของการอนุรักษ์ธรรมชาติจากรุ่นสู่รุ่นสืบไป

เรียบเรียงข้อมูลจาก   เว็บไซต์ของมูลนิธิสืบ นาคะเสถียรwww.seub.or.th

ดู 91 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page